หน้าแรก > invention, Toys > จับขยะอิเลคทรอนิกส์มาทำของเล่น

จับขยะอิเลคทรอนิกส์มาทำของเล่น

ทุกวันนี้ขยะอิเลคทรอนิกส์เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นักวิจัยจาก Keio-NUS CUTE Center และ Mixed Reality Lab ในประเทศสิงค์โปร์จึงได้คิดค้นไอเดียใหม่ที่ช่วยรับมือกับปัญหานี้ ด้วยการนำมาขยะเหล่านี้มาดัดแปลงเป็นของเล่นเพื่อการศึกษาซะเลย

ปัจจุบันโปรเจคนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น โดยมีจุดมุ่งหมายสูงสุดในการผลิต “ฮาร์ดแวร์ที่มีคุณภาพที่สามารถใช้เป็นของเล่นสำหรับเด็กในประเทศกำลังพัฒนาได้ โดยเฉพาะเด็กๆที่ทำงานและอาศัยอยู่ใกล้ที่ทิ้งขยะอิเลคทรอนิกส์”

แผนการของเค้าก็คือการนำขยะอิเลคทรอนิกส์มาสร้างเป็นโมดูลของเล่นที่ใช้เพื่อการศึกษาแบบง่ายๆและมีราคาถูก ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะในบริเวณที่ทิ้งขยะให้ลดลงได้ โดยจะทำการคัดแยกอุปกรณ์ที่ใช้ไม่ได้แล้วทิ้งไป ส่วนชิ้นส่วนที่ยังทำงานได้อย่าง PS/2 คีย์บอร์ดและเม้าส์, ลำโพงและจอ CRT เก่าก็จะนำมาจับคู่สร้างเป็นโมดูลของเล่นต่อไป

Dhairya Dand เจ้าของแนวความคิดนี้ได้ทดลองสร้างโมดูลของเล่นที่มีชื่อว่า ThinkerToys ตัวต้นแบบขึ้นมา 4 ชุด พร้อมกับแพลตฟอร์ม Arduino computer ที่ใช้งานได้อย่างหลากหลาย เพียงแค่เพิ่มชิฟและเขียนโค้ดควบคุมเข้าไป หลังจากนั้นก็นำมาเชื่อมต่อกับส่วนประกอบอย่าง LCD screen, ลำโพงและ VS1053B MP3 decoder มาประกอบเข้าด้วยกัน

โมดูลชุดแรกมีชื่อเรียกว่า Keyano ประกอบไปด้วย ลำโพงขนาดเล็กเชื่อมต่อกับคีย์บอร์ด โดยแป้นกดแต่ละตัวจะให้เสียงที่แตกต่างกันเวลาที่กด โมดูลตัวที่สองชื่อว่า RandoMath ที่นำจอ LED มาใช้เล่นเกมปริศนาคณิตศาสตร์ซึ่งผู้เล่นจะต้องพิมพ์คำตอบด้วยคีย์บอร์ด โมดูลตัวที่สามมีชื่อว่า Storynory มันใช้ต่อกับหูฟังหรือลำโพงที่ยังใช้งานได้เพื่อเป็น audiobooks เพื่อเล่นเนื้อหาที่อัดเอาไว้มาให้แล้ว โดยมันจะบรรยายเนื้อหาออกมาเป็นภาษาท้องถิ่นในพื้นที่นั้นๆ ส่วนโมดูลตัวสุดท้ายมีชื่อว่า TV++ ที่นำขยะประเภททีวีและจอ CRT ที่ยังใช้งานได้มาทำเป็นเกมเพื่อการศึกษาโดยควบคุมผ่านเม้าส์และคีย์บอร์ด

อุปกรณ์เหล่านี้จะถูกผลิตและส่งไปให้เด็กๆในประเทศกำลังพัฒนาที่อาศัยอยู่ใกล้กับกองขยะอิเลคทรอนิกส์ เพียงแค่เด็กๆมีโมดูลเหล่านี้ก็สามารถนำไปใช้กับคีย์บอร์ดหรือเม้าส์ตัวไหนในกองขยะก็สามารถใช้งานเพื่อเล่นสนุกได้ทันที

แต่ปัญหาอย่างนึงของ ThinkerToys ก็คือมันยังไม่สามารถผลิตในจำนวนมากๆได้ เพราะต้องทำการคัดแยกและเลือกอุปกรณ์ที่ยังใช้งานได้มาผลิตเป็นโมดูลต่างๆ แล้วจึงค่อยส่งไปยังโรงงานเพื่อทำการประกอบชิ้นส่วนต่างๆเข้าด้วยกัน ซึ่งวิธีนี้ไม่ได้ทำให้ผลิตได้อย่างรวดเร็ว และยังมีต้นทุนที่สูงเกินราคาขายที่ตั้งไว้ที่ชิ้นละ 5$ หรือ 150 บาทไปมาก

แม้ว่า ThinkerToys จะมีจุดเริ่มต้นมาจากคนๆเดียว แต่ Dand ก็ได้เปิดชุมชนที่มีชื่อว่า openToys ขึ้นมาเพื่อเป็นที่รวมตัวของนักออกแบบและวิศวกรที่อยากมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ขยะอิเลคทรอนิกส์เหล่านี้ สิ่งที่อยู่ในชุมชนแห่งนี้จะเป็น open source ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ, วงจร หรือโค้ดต่างๆ ตอนนี้เค้าก็ได้เริ่มทำเอกสารที่บอกรายละเอียดเกี่ยวกับโค้ดและวิธีการสร้างโมดูลตัวต้นแบบเพื่อแจกให้กับผู้ที่สนใจอยู่ รวมถึงในอนาคตจะทำการเพิ่มวิดีโอสอนการทำแบบเป็นขั้นตอนด้วย

Dand วางแผนที่จะเดินทางไปยังกัมพูชาในเดือนพฤษภาคม 2012 เพื่อทดลองผลิตโมดูลเหล่านี้กับโรงเรียนในพื้นที่ โดยเค้าจะใช้ชีวิตกับเด็กๆเพื่อประเมินว่าโมดูลตัวไหนเป็นที่นิยมมากที่สุด รวมถึงวิเคราะห์ปัญหาเรื่องพลังงานที่ใช้กับโมดูลเหล่านี้ ซึ่งหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาก็คือที่ชาร์จพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อให้เด็กๆนำของเล่นมาชาร์จได้

VIA gizmag

หมวดหมู่:invention, Toys ป้ายกำกับ:, ,
  1. cyberesper
    มีนาคม 29, 2012 เวลา 3:00 pm

    ช่วยโลก แถมช่วยเยาวชนให้ได้ความรู้อีก.

  2. มีนาคม 30, 2012 เวลา 10:27 pm

    เป็นฝรั่งที่เดินตามแนวทางพระโพธิสัตว์

  1. No trackbacks yet.

ใส่ความเห็น